โรคหูดหงอนไก่ (Anogenital Warts) คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคชนิดหนึ่ง สามารถพบได้ทั้งชายและหญิงโดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 16-25 ปี และมีอาการของโรคที่แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วหากคุณไม่มีวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้องก็อาจทำให้โรคดังกล่าวลุกลาม สร้างความรำคาญใจ และทำลายความมั่นใจให้กับตัวผู้ป่วยและคู่ชีวิตได้
แล้วโรคนี้มีสาเหตุจากอะไร ? หูดหงอนไก่ รักษาเองได้ไหม ? และป้องกันหูดหงอนไก่ง่ายๆ ได้อย่างไรบ้าง ? วันนี้เรามีคำตอบ
หูดหงอนไก่เกิดจากอะไร ?
หูดหงอนไก่ เกิดจากการติดเชื้อโรค Human Papilloma Virus หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เชื้อ ‘HPV’ ชนิดที่ 6 และ 11 ซึ่งไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังหรือเยื่อบุผนังภายในของผู้ป่วย เช่นการมีเพศสัมพันธ์ การใช้สิ่งของร่วมกัน หรือการคลอดธรรมชาติ
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นหูดหงอนไก่
ถึงแม้ว่า หูดหงอนไก่จะสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกับหลายคน แต่มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเสี่ยงเป็นโรคชนิดนี้มากกว่าบุคคลทั่วไป ได้แก่
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อไม่ว่าช่องทางใด
- มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ
- ผู้ที่จูบหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
- ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อ
- มักเข้าห้องน้ำสาธารณะไม่สะอาด
- มีภูมิคุ้มกันต่ำ
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการหูดหงอนไก่
อาการโดยทั่วไปของโรคหูดหงอนไก่คือ มีตุ่มหรือติ่งเนื้อยื่นออกมาจากผิวหนังในบริเวณร่างกายส่วนต่างๆ เช่น มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิงหรือชาย บริเวณปาก คอหอย ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ขาหนีบ หรืออวัยวะภายในอย่าง ลำไส้ตรง และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ซึ่งลักษณะของหูดหงอนไก่ที่พบแบ่งเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่
- ตุ่มผิวเรียบ หรือผิวขรุขระนูน เป็นหยัก ๆ หรือมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ
- ตุ่มขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน
- ตุ่มสีขาว สีเนื้อ สีชมพู หรือสีแดง
- ตุ่มเพียงตุ่มเดียว หรือหลาย ๆ ตุ่มขึ้นเป็นกระจุกรวมกัน
- คัน แสบร้อน หรือเจ็บบริเวณที่เกิดตุ่ม
- ตุ่มมีเลือดออก หรือไหลออกทางช่องคลอด โดยสามารถสังเกตได้ขณะมีเพศสัมพันธ์
รักษาหูดหงอนไก่อย่างไร ?
หากถามว่าหูดหงอนไก่ สามารถรักษาเองได้หรือไม่ ? คำตอบคือ การรักษาหูดหงอนไก่ให้หายขาดไม่สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันสามารถใช้วิทยาการเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ สามารถป้องกันไม่ให้ตุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ลุกลาม หรือป้องกันการติดต่อไปยังผู้อื่น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาความรุนแรงและลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละคน
รักษาด้วยการใช้ยา
มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากสักเท่าไรนัก โดยต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยาที่แพทย์มักใช้บรรเทาอาการหูดหงอนไก่มีดังนี้
- ยาโพโดฟีโลทอกซิน (Podophyllotoxin) ยาทาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ส่งผลให้หูดไม่สามารถแพร่กระจายตัวได้ และต้องใช้ต่อเนื่องตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง มีผลข้างเคียงคือ ผิวหนังปวด แสบ บวม แดง ลอก และคัน
- ยาไตรคลอโรเซติกแอซิด (Trichloroacetic Acid) ยาทาที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อน ทำลายโปรตีนในหูด จนเซลล์ตายและหลุดลอกออกมา ซึ่งระหว่างการใช้งานผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกแสบ ร้อน คัน ระคายเคือง และบวมแดงได้
- ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) ยาทาที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ทำให้ผิวหนังสามารถต่อต้านการเจริญเติบโตของหูดหงอนไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผลข้างเคียงระหว่างการใช้งานคือ อาจทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นตามตัวได้
การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ ผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อย ล้างทำความสะอาดและเป่าบริเวณหูดให้แห้งสนิทก่อนทายา และไม่ควรให้บริเวณที่ทายาสัมผัสกับน้ำเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง เพื่อให้ยาได้ออกฤทธิ์อย่างเต็มที่ที่สุด
รักษาด้วยการทำหัตถการ
หากหูดหงอนไก่มีความรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้าการรักษาด้วยการทำหัตถการต่างๆ แทน ปัจจุบันการรักษาด้วยการทำหัตถการมีให้เลือกหลากหลายวิธี ดังนี้
- จี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) จากไนโตรเจนเหลว เพื่อให้ผิวหนังบริเวณหูดกลับมาเป็นปกติดังเดิม โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องกลับมาทำซ้ำเพื่อกำจัดหูดให้หมด และผิวหนังอาจเจ็บปวดและบวมแดง
- จี้ด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) ด้วยความร้อนสูง เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อหูดหงอนไก่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและมีผิวหนังบวมแดงหลังการรักษา
- ผ่าตัดเพื่อตัดติ่งเนื้อ (Surgical Excision) เหมาะสำหรับผู้ที่มีหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ตอบสนอง จำเป็นต้องส่งชิ้นเนื้อไปตรวจสอบเพิ่มเติม หรือผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์
- ใช้เลเซอร์ (Laser Treatments) คือวิธีการรักษาผู้ป่วยหูดหงอนไก่ที่ขึ้นเป็นวงกว้าง มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายสูง ทำได้ยาก รู้สึกเจ็บปวดระหว่างทำ และอาจเกิดรอยแผลเป็นในระยะยาว
สำหรับผู้ป่วยตั้งครรภ์ การรักษาด้วยการทำหัตถการจะช่วยป้องกันโรคหูดหงอนไก่ในทารกที่เกิดกับแม่ที่เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นหูดหงอนไก่
เมื่อคุณพบว่าตนเองเป็นโรคหูดหงอนไก่ การรักษาเองอาจไม่สามารถทำได้ แต่คุณสามารถบรรเทาอาการความเจ็บปวดได้ง่ายๆ เพียงแค่ทำสิ่งเหล่านี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-12 ชั่วโมง เพื่อให้หลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันมากขึ้น
- ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30-40 นาทีต่อวัน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นหลังออกกำลังกาย
- รักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะบริเวณที่มีหูดหงอนไก่ ล้างด้วยน้ำอุ่น ไม่ใช้มือถู และรักษาให้บริเวณดังกล่าวแห้งอยู่เสมอ
- ตากกางเกงใน เพื่อลดความอับชื้นบริเวณจุดซ่อนเร้น
- ไม่ใส่กางเกงในนอน เพื่อลดการเสียดสีและความอับชื้นบริเวณจุดซ่อนเร้น
- แช่น้ำอุ่น 10-15 นาที เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดต่อไปยังผู้อื่น และการมีเพศสัมพันธ์อาจสร้างความเจ็บปวดได้
- พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง รวมไปถึงหากมีอาการผิดปกติใดๆ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์อย่างรวดเร็วเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
ป้องกันหูดหงอนไก่ง่ายๆ ด้วยตนเอง
การป้องกันหูดหงอนไก่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการทั้ง 9 ข้อ ดังนี้
1. ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่
2. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หลายคน
3. ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
4. ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
5. ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
6. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน หรืออื่นๆ
7. รักษาความสะอาดเสมอ
8. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
9. ตรวจสุขภาพประจำปี
สรุป
หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง และสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ถ้าหากผู้ป่วยไม่มีการดูแลตนเองที่ถูกต้องและเหมาะสม และนอกจากความเจ็บปวดทางร่างกายแล้ว ผู้เป็นโรคหูดหงอนไก่ยังต้องเผชิญกับความกังวลใจด้านชีวิตคู่และการมีเพศสัมพันธ์อีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรป้องกันไม่ใช้ตนเองได้รับเชื้อดังกล่าว เพื่อความสบายใจของเราและผู้คนรอบข้าง
สำหรับใครที่มีลักษณะอาการเกี่ยวกับอวัยวะเพศที่เปลี่ยนไป หรือสงสัยว่าตนเองเป็น หนองใน ซิฟิลิส เริม หรือหูดหงอนไก่ ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อวินิจฉัยสาเหตุและหาวิธีรักษาโรคอย่างถูกวิธี
MedCare มีเภสัชผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และเราพร้อมให้บริการจัดหายาจากร้านขายยาใกล้บ้านภายใน 1 ชั่วโมงเพียงแค่คุณแอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/