เคยไหม ? กับอาการปวดท้อง แต่ถ่ายไม่ออก หรือถ่ายออกแต่อุจจาระแข็งจนทำให้เจ็บปวดขณะขับถ่าย หากคุณกำลังประสบปัญหาดังกล่าว นี่อาจเป็นสัญญาณบอกว่าระบบขับถ่ายของคุณต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ! เพราะปัญหาท้องผูก ถ่ายไม่ออกอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
และนี่คือสาเหตุ ผลเสีย และวิธีการแก้ไขปัญหาปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออกแบบง่ายๆ ที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง
ปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออก เกิดจากอะไร ?
อาการท้องผูก หรือถ่ายไม่ออก เกิดจากการอาหารค้างอยู่ในลำไส้เป็นระยะเวลานานมากเกินไป จนลำไส้ดูดซึมน้ำออกจนเหลือน้ำเพียงน้อยนิด ส่งผลให้กล้ามเนื้อลำไส้ขับของเสียออกมาได้ยาก ขับออกมาปริมาณน้อย และมีลักษณะแข็ง สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ไม่ออกกำลังกาย
การทำงานของลำไส้ มีความเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงานซึ่งเกิดจากการขยับร่างกายเป็นประจำ ดังนั้นเมื่อคุณไม่ได้มีการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร จึงอาจส่งผลให้คุณมีอาการปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออกได้
2. พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ที่ส่งผลต่อระบบขับถ่าย
ด้วยวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีความเร่งรีบตลอดเวลา ทำให้บางคนอาจรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ขับถ่ายไม่สม่ำเสมอ รวมไปถึงพักผ่อนน้อย และความเครียด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ระบบขับถ่ายของร่างกายที่ทำงานเป็นวงจรเกิดความสับสน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร และถ่ายไม่ออกในที่สุด
3. รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอาการปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออกคือ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การดื่มน้ำน้อย หรือการไม่รับประทานอาหารที่มีกากใย เพราะอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยอุ้มน้ำและทำให้อาหารในลำไส้สามารถเคลื่อนตัวได้ดีนั่นเอง
อุจจาระตกค้างส่งผลอะไรได้บ้าง
เมื่อคุณปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออก ของเสียที่ควรขับออกไปจะตกค้างอยู่ภายในร่างกาย และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น
- ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง รู้สึกไม่สบายท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกว่าอุจจาระไม่หมดท้อง
- อุจจาระมีเลือดปน
- กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับทำให้ปัสสาวะบ่อย
- ปวดหลังส่วนล่าง
- หายใจติดขัด หายใจไม่เต็มปอด
- รับประทานอาหารได้น้อย เบื่ออาหาร
- ขมคอ เรอเปรี้ยว และผายลมบ่อย
- อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
โดยสิ่งที่ระบุไปเป็นเพียงผลเสียในระยะสั้นๆ เท่านั้น หากมีการปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเรื้อรัง ก็มีโอกาสที่จะทำให้ร่างกายแย่ลงในระยะยาวอีกด้วย
ผลเสียระยะยาวของการท้องผูก ถ่ายไม่ออก
อาการถ่ายไม่ออกไม่เพียงแต่ทำให้ปวดท้องและมีอุจจาระตกค้างเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้ร่างกายมีความผิดปกติอย่างต่อเนื่อง และรักษาได้ยาก ดังนี้
1. มีสารพิษในร่างกาย
การขับถ่าย คือหนึ่งในกระบวนการขจัดของเสียและสารเคมีต่างๆ ออกจากร่างกาย แต่เมื่อคุณมีอาการถ่ายไม่ออก สารพิษเหล่านั้นก็จะถูกดูดกลับเข้าไปในร่างกาย และกระจายไปตามส่วนต่างๆ ผ่านตามกระแสเลือดไปยังอวัยวะ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และสามารถลดได้ยาก เพราะสารพิษเหล่านี้ถูกดูดซึมเข้าร่างกายแล้วนั่นเอง
2. เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย
นอกจากนี้ เชื้อโรคยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อาจถูกดูดกลับเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน และทำให้ระบบภายในร่างกาย โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง แสดงให้เห็นผ่านทางผิวหนังหรือใบหน้าได้
3. มีกลิ่นปากและกลิ่นตัว
แน่นอนว่าเมื่อเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว กระแสเลือดของผู้ป่วยก็จะไม่สะอาดมากเท่าที่ควร และเมื่อกระแสเลือดเข้าสู่กระบวนการหายใจ ปอดซึ่งทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ ก็จะขับของเสียเหล่านี้ออกทางลมหายใจและผิวหนังจนส่งกลิ่นเหม็นออกมา
4. มีโอกาสที่จะเป็นโรคอื่นๆ
การที่อุจจาระแข็งตัวและท้องผูก อาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงและเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น
- โรคลำไส้อักเสบ คือหนึ่งในโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้มีอาการปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออก เพราะเมื่อลำไส้ส่วนที่อ่อนแอต้องรับน้ำหนักอุจจาระที่แข็ง ลำไส้อาจเกิดการโป่งพอง มีเชื้อโรคผ่านเข้าไปในลำไส้ และทำให้ลำไส้ติดเชื้อได้ ซึ่งอาการผนังลำไส้อักเสบมีทั้งเลือดออกในลำไส้ ลำไส้เป็นหนอง ผนังลำไส้ทะลุ ลำไส้อุดตัน หรือในอนาคตผู้ป่วยอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ได้
- โรคริดสีดวงทวาร เมื่ออุจจาระแข็งตัว อาจทำให้เส้นเลือดบริเวณรูทวารฉีกขาด เกิดแผล และเป็นริดสีดวงทวารได้
- โรคไส้เลื่อน หรือภาวะที่อวัยวะบริเวณช่องท้องบางส่วนเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งที่ผิดแปลกไป เกิดจากการเบ่งอุจจาระแข็งอย่างยากลำบาก ส่งผลให้มีแรงดันเกิดขึ้นมากเกินไป
- ภาวะหัวใจขาดเลือด ระหว่างการเบ่งอุจจาระ ส่งผลให้ความดันในทรวงอกเพิ่มขึ้น
วิธีแก้ไขอาการปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออก
สำหรับผู้มีอาการปวดท้อง แต่ถ่ายไม่ออก และต้องการปรับสมดุลให้กับระบบขับถ่าย สามารถเริ่มแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองแบบง่ายๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
1. ปรับพฤติกรรม
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สาเหตุของการปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออก มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเองเป็นส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็น ไม่ออกกำลังกาย เครียด ละเลยการรับประทานอาหาร หรือเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เพื่อให้การขับถ่ายดียิ่งขึ้น ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน
- ขับถ่ายเป็นเวลา
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ไม่กลั้นอุจจาระ
- ปรับเปลี่ยนการนั่งขณะขับถ่าย ให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม
2. การใช้ยารักษา
หากคุณลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว แต่ยังประสบปัญหาการขับถ่ายไม่ออกเช่นเดิม คุณอาจจำเป็นต้องเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ และรักษาโดยใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น
- ยาระบายเพิ่มใยอาหาร
- ยาระบายดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้
- ยาระบายช่วยทำให้อุจจาระนุ่ม
- ยาระบายกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
การใช้ยาที่ถูกต้อง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนการกระทำในแต่ละวันให้เหมาะสมกับผู้ป่วย จะทำให้การดูแลรักษานั้นเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นแม้ว่าจะรักษามาแล้ว ก็ควรมีการปรับปรุงพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว
สรุป
อาการปวดท้อง แต่ถ่ายไม่ออกคือปัญหาใหญ่ที่กวนใจใครหลายคน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุกวัน หากคุณมีอาการดังกล่าว ควรรีบหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันโรคอื่นๆ ที่อาจตามมาได้
สำหรับใครที่มีอาการปวดท้อง แต่ถ่ายไม่ออก และต้องการคำปรึกษาเรื่องการรับประทานยา MedCare มีเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญและสามารถให้คำปรึกษากับคุณได้ รวมถึงเรายังมีบริการจัดหายาจากร้านขายยาใกล้บ้านภายใน 1 ชั่วโมง เพียงแอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/