ยารักษาโรคริดสีดวงมีกี่แบบ หากเป็นริดสีดวงควรรักษาแบบไหน ดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
การขับถ่ายคือกิจวัตรที่เราควรทำในทุก ๆ วัน เพราะการขับถ่ายคือหนึ่งในกระบวนการซึ่งมีส่วนช่วยให้มนุษย์ได้กำจัดของเสียที่สะสมภายในร่างกายออกมา หากเราไม่สามารถขับถ่ายได้ดีพอ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง แต่ถ่ายไม่ออก การขับถ่ายมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง การขับถ่ายก็อาจทำให้รูทวารของเราอักเสบและกลายเป็น โรคริดสีดวง (Hemorrhoid)
อาการริดสีดวงทวาร
ริดสีดวง คือโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดบริเวณรูทวารหนัก เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง มีความดันในช่องท้อง และผนังหลอดเลือดปริแตก
ประเภทของริดสีดวง
1. ชนิดภายใน เกิดจากหลอดเลือดดำภายในร่างกายโป่งพอง ไม่สามารถคลำและเห็นจากภายนอกได้ มีตำแหน่งอยู่เหนือบริเวณรูทวารหนัก ถูกห่อหุ้มด้วยลำไส้ใหญ่ตอนปลายทำให้ไม่รู้สึกเจ็บหากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ
2. ชนิดภายนอก เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณรูทวารหนักโป่งพอง จนมีเนื้อเยื่อโผล่ยื่นออกมา สามารถคลำและมองเห็นได้ ถูกห่อหุ้มด้วยผิวหนังซึ่งมีเส้นประสาทจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดได้
ระดับอาการริดสีดวง
- ระดับ 1 มีเลือดไหลขณะขับถ่าย หรืออุจจาระมีเลือดปน
- ระดับ 2 บริเวณหัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาเล็กน้อยขณะเบ่งอุจจาระ และหายเข้าไปหลังขับถ่าย
- ระดับ 3 หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะขณะขับถ่าย ไอ จาม หรือยกของหนัก และจำเป็นต้องใช้นิ้วดันกลับเข้าไปด้านใน
- ระดับ 4 ริดสีดวงโผล่ออกมามาก มีอาการแทรกซ้อน เช่น มีเลือดไหล มีหนอง รู้สึกเจ็บปวด และอาจเกิดอาการคันทวารหนักร่วมด้วย
วิธีรักษาโรคริดสีดวงทวาร
การรักษาโรคริดสีดวงทวารสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงของโรคริดสีดวงในผู้ป่วยแต่ละคน
1. การใช้ยารักษาโรคริดสีดวง
การเริ่มต้นรักษาริดสีดวงง่าย ๆ คือการใช้ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยคุณไม่จำเป็นต้องเดินทางไปผ่าตัด เพราะกระบวนการของยาแต่ละประเภทจะช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงได้
ยารักษาโรคริดสีดวงทวารสามารถแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภท ทั้งยารับประทาน ยาทา และยาเหน็บ คุณสามาถเลือกใช้งานได้ตามความรุนแรงของอาการและรูปแบบของริดสีดวง
2. รัดยางเพื่อลดขนาดริดสีดวง
หลักการของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยการรัดยางคือ หลังจากแพทย์ทำการรัดเนื้อเยื่อส่วนที่ยื่นออกมาแล้ว เนื้อเยื่อส่วนดังกล่าวจะไม่มีเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยง และทำให้ริดสีดวงฝ่อเล็กลงจนหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ เป็นวิธีการที่เหมาะกับผู้ป่วยริดสีดวงทวารระดับ 2 ขึ้นไปที่ใช้ยาเหน็บรักษาไม่หาย
การรัดยางมีข้อดีคือ เจ็บน้อยกว่าเทียบกับการผ่าตัด ใช้เวลาในการดำเนินการและพักฟื้นไม่นาน แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัว จำเป็นต้องขับถ่ายอย่างระมัดระวัง และมีโอกาสเกิดริดสีดวงทวารซ้ำได้
3. การยิงเลเซอร์กำจัด
เหมาะกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผลและต้องการการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยแพทย์จะทำการวางยาชาบริเวณทวารหนัก ผ่าเปิดแผลขนาดเล็ก สอดเส้นใยแก้วสำหรับยิงเลเซอร์เข้าไปยังภายใน และเลเซอร์จะส่งผลให้หลอดเลือดที่โป่งพองยุบลงไป
ข้อดีของการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์คือ ไม่เจ็บ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก และไม่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อโดยรอบ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพงและมีอาจโอกาสเล็กน้อยที่จะกลับมาเป็นริดสีดวงได้
4. ผ่าตัดนำติ่งเนื้อออกไป
ถึงแม้ว่าในอดีตการผ่าตัดริดสีดวงทวารจะมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า แต่ปัจจุบันการผ่าตัดริดสีดวงทวารออกสามารถทำได้โดยใช้ เครื่องมือเย็บอัตโนมัติ (Staple Haemorrhoidectomy: PPH) ที่ช่วยเลื่อนเนื้อเยื่อดังกล่าวเข้าไปด้านใน และเย็บเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ
มีจุดเด่นคือ สามารถรักษาริดสีดวงได้ทุกรูปแบบ ใช้เวลาดำเนินการไม่นาน พักฟื้นได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นวิธีการที่ช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นริดสีดวงอีกครั้งได้ด้วย
เป็นโรคริดสีดวง ควรใช้ยาอะไร ?
เราสามารถหาซื้อยาแก้ริดสีดวงได้ง่ายตามร้านยาทั่วไป มีราคาไม่สูง ไม่ต้องพักฟื้น โดยยารักษาโรคริดสีดวงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ยาเหน็บรักษาริดสีดวง
หากว่าคุณมีอาการริดสีดวงทวารในระดับเริ่มต้น การใช้ยาเหน็บ หรือ ยาสอด อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะมากที่สุดในการรักษาริดสีดวง โดยยาดังกล่าวมีลักษณะคล้ายแคปซูลขนาดเล็กสีขาว มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการคัน เจ็บ บวม แดงบริเวณทวารหนัก และสามารถใช้เป็นยาระบายได้ มักถูกใช้ควบคู่กับยาทาเพื่อลดอาการบริเวณปากทวารหนัก แต่ด้วยส่วนผสมของยาบางชนิดทำให้ผู้ป่วยไม่ควรใช้งานติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์
2. ยารับประทานรักษาริดสีดวง
ยาที่สามารถรักษาได้ทั้งริดสีดวงภายในและภายนอก แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ยาแผนปัจจุบัน และยาจากสมุนไพร ตัวยามีคุณสมบัติในการลดอาการปวด บวม สมานแผล และลดการอักเสบของหลอดเลือดดำและรูทวารหนัก
3. ยาทารักษาริดสีดวง
ยาสำหรับการรักษาริดสีดวงภายนอก โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ทั้งครีม เจล และขี้ผึ้ง ภายในยามีประกอบสำคัญคือ Hydrocortisone ยาสเตียรอยด์อ่อนลดการอักเสบ Cinchocaine Hydrochloride ยาชาช่วยละความเจ็บปวด และ Zinc oxide ยาสมานหลอดเลือด แต่ไม่ควรใช้งานยาชนิดนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 3 สัปดาห์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ได้
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นริดสีดวง
เมื่อคุณมีอาการของโรคริดสีดวงทวาร คุณสามารถบรรเทาความเจ็บปวดและลดอาการของโรคได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่
- ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร รับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มมากขึ้น และดื่มน้ำเป็นประจำ เพื่อปรับสมดุลลำไส้ และกระตุ้นการขับถ่ายให้มีประสิทธิภาพ
- แช่น้ำอุ่น 10-15 นาที เพื่อลดการขยายตัวและการอักเสบของเส้นเลือด
โรคริดสีดวงทวารป้องกันได้
เราสามารถป้องกันโรคริดสีดวงทวารได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้ลำไส้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการดังนี้
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 -10 แก้ว
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืช
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดองและอาหารแปรรูป
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เพราะอาจทำให้ท้องผูกได้
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่สามารถย่อยได้ยาก เช่น ของทอด เนื้อวัว
- หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานและมีฤทธิ์ร้อนเช่น ทุเรียน สะตอ หรือกระถิน
สรุป
ริดสีดวงทวารคือโรคและอาการเจ็บปวดที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการอักเสบบริเวณทวารหนักจะทำให้เราไม่สามารถเดิน นั่ง หรือนอนได้เช่นเดิม หากว่าคุณมีอาการที่บ่งบอกว่า อาจเป็นริดสีดวงทวาร คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยด่วน เพราะมิเช่นนั้นโรคริดสีดวงทวารอาจทวีระดับความรุนแรงและรักษาได้ยากยิ่งขึ้น
สำหรับใครที่เป็นริดสีดวงทวารในระยะเริ่มต้น และต้องการใช้ยารักษาโรคริดสีดวงด้วยตนเอง แต่ไม่มีเวลาเดินทางไปยังร้านขายยา หรือต้องการยารักษาอื่น ๆ ทั้งยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาพ่นจมูก และยาสามัญประจำบ้าน MedCare เรามีบริการเภสัชกรออนไลน์เพื่อให้คุณสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและรอรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้านภายใน 1 ชั่วโมงเพียงแอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/
แหล่งอ้างอิง
- https://hdmall.co.th/c/hemorrhoids-treatment#firstway
- https://www.bangkokhospital.com/content/hemorrhoids
- https://www.paolohospital.com/th-TH/kaset/Article/Details/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89