Latest Articles

ประจำเดือนมาไม่ปกติบอกอะไรเราได้บ้าง ควรดูแลร่างกายตนเองอย่างไร

ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ประจำเดือนมาไม่ปกติคืออาการที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงโดยทั่วไป และสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ หลากปัจจัย แม้เรื่องนี้อาจดูธรรมดา แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเสียทีเดียว เนื่องจากรอบการมาของประจำเดือนที่ผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพร่างกายของผู้หญิงได้เช่นกัน

ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปฏิทิน

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะมีประจำเดือนในครั้งแรกราว 12-13 ปี หลังจากนั้นจึงเกิดขึ้นทุกๆ 21–35 วันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วันต่อครั้ง และมักมีประจำเดือนจนถึงอายุ 45-55 ปี จึงเข้าวัยหมดประจำเดือน

ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นอาการที่ผู้หญิงประจำเดือนขาดหายหรือ เมนส์ไม่มา 3-6 เดือน โดยจากการสำรวจพบว่าผู้หญิง 1 ใน 4 คนเคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชีวิต โดยอาการประจำเดือนขาดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. แบบปฐมภูมิ ภาวะไม่มีประจำเดือนซึ่งเกิดขึ้นหลังอายุ 15 ปี อาจมีสาเหตุจากโรคหรือพันธุกรรมของผู้หญิง
  2. แบบทุติยภูมิ ภาวะประจำเดือนขาดเป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด ช่องเวลาตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

ประจำเดือนมาไม่ปกติเกิดจากอะไรได้บ้าง ?

สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือพันธุกรรมของแต่ละคน และนี่คือ 5 สาเหตุที่มักทำให้ผู้หญิงประจำเดือนมาผิดปกติ

1. ภาวะขาดประจำเดือนจากสาเหตุตามธรรมชาติ

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงประจำเดือนไม่มา คือภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้หญิงตั้งครรภ์ไปจนถึงถึงช่วงเวลาการให้นมบุตร เพราะร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นสารที่ควบคุมให้มีการตกไข่ที่สม่ำเสมอ หากมีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินสูงที่เกินไป อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

อีกหนึ่งสาเหตุสำหรับผู้หญิงอายุมากจนเข้าสู่วัยทอง อายุตั้งแต่ 40-55 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนในตัวผู้หญิงลดลง รังไข่ทำงานผิดปกติ ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ประจำเดือนมามาก มาน้อยกว่าปกติ หรืออาจไม่มีประจำเดือน

2. การใช้ยาบางชนิด

รู้หรือไม่ว่า ผู้หญิงที่มีการใช้ยาบางชนิดอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้ระบบภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาแก้แพ้ ยาควบคุมความดันโลหิต ยารักษาโรคทางจิตเวช หรือยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวโปรเจสเตอโรน

ยาคุมกำเนิดอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เพราะยาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้ผนังมดลูกบางลงจนตัวอ่อนไม่สามารถฝังลงไปได้ ดังนั้นหลังจากผู้หญิงหยุดใช้ ยาคุม จึงอาจทำให้ประจำเดือนขาดหายได้มากถึง 6 เดือน โดยเฉพาะการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีด

3. พฤติกรรมการใช้ชีวิต

พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้หญิงส่งผลให้ประจำเดือนขาดหายโดยไม่รู้ตัวได้เช่นเดียวกัน เช่น การพักผ่อนน้อย น้ำหนักน้อยเกินไป หรือมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอาการล้วงคอเพื่ออาเจียน ซึ่งส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงทำงานเปลี่ยนไปและประจำเดือนมาผิดปกติ

นอกจากนี้ ความเครียดและการออกกำลังกายมากเกินไป ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่สามารถพบได้บ่อยในผู้หญิงประจำเดือนมาไม่ปกติ เพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล และรบกวนการทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งมีผลต่อรอบเดือนนั่นเอง

เครียด เมนส์มาไม่ปกติ

4. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คือความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลิน ไม่สมดุลกันจนเกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กเติบโตภายในรังไข่ และส่งให้ผู้หญิงมีประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมไปถึงมีอาการอื่นๆ เช่น เป็นสิว ขนดก และมีภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น

5. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง

ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เป็นโรคเกี่ยวกับฮอร์โมนที่สัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อ อินซูลิน โรคอ้วน หรือโรคทางการเผาผลาญ อย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ภาวะนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนของผู้หญิงมาผิดปกติได้ และอาจส่งผลกระทบอื่นๆ กับร่างกายได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น มีบุตรยาก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นมะเร็งโพรงมดลูกได้อีกด้วย

ประจำเดือนมาไม่ปกติแบบไหนที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง ?

หากคุณมีประจำเดือนมาไม่ปกติ และกังวลว่า นี่เป็นอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองจาก 8 ข้อนี้

  • ระยะห่างของประจำเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วันติดต่อกันเกิน 3 เดือน
  • มีเลือดไหลก่อนถึงกำหนดวันที่ประจำเดือนควรมา
  • ประจำเดือนไม่มาเกิน 3 เดือน
  • มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ อาจยาวนานกว่า 7 วัน และมีลักษณะเป็นลิ่มเลือด
  • ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน
  • มีประจำเดือนมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน
  • ขณะมีประจำเดือน อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ตกขาวมีกลิ่น คัน
  • ประจำเดือนมาหลังเข้าสู่วัยทอง

วิธีรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ

การรักษาภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดหายสามารถทำได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ทั้งการใช้ยาเพื่อรักษาเบื้องต้นและการผ่าตัด

ด้วยการใช้ยา

ผู้ป่วยที่มีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ จำเป็นต้องรักษาด้วยยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่

  • ฮอร์โมนโปรเจสติน เพื่อยับยั้งการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกภายในร่างกายของผู้หญิง
  • ยาคุมกำเนิด ทั้งรูปแบบรับประทานหรือฉีด เพื่อปรับฮอร์โมนในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ
  • ยากรดทราเนซามิก เพื่อต่อต้านภาวะสลายลิ่มเลือดซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • ยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนรวมถึงฆ่าเชื้อจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

ด้วยการผ่าตัด

สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติด้วยสาเหตุจากเนื้องอกในมดลูก มีอายุน้อยหรือต้องการมีบุตร แพทย์จะทำการผ่าตัดก้อนมดลูกออก ส่วนผู้ที่มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่เกินไปอาจต้องทำการตัดมดลูกออกไปด้วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้อาจมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดมาก

ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้อง

การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ

เมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ อันดับแรกที่ผู้หญิงควรทำคือ การตรวจครรภ์ ด้วยตนเองเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ และหากไม่พบว่ากำลังตั้งครรภ์ เราก็ควรดูแลตนเองเบื้องต้นเพื่อปรับสมดุลให้กลับมาเป็นปกติ เช่น

  • ลดความเครียด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • จดบันทึกรอบประจำเดือนเพื่อสังเกตตนเอง
  • เดินทางไปพบแพทย์เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริง

สรุป

อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ นับเป็นภาวะที่ร่างกายของผู้หญิงอ่อนแอลง และเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าคุณควรกลับมาดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายของคุณกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

สำหรับผู้ป่วยท่านไหนที่กำลังกังวลเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตราย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือผู้มีความเชี่ยวชาญ MedCare มีเภสัชกรที่พร้อมให้คำแนะนำเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของคุณ เพียงแค่แอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/

ปรึกษาเภสัชกรออนไลน์