ทำไมหลายคนจึงมีอาการปวดหัวข้างขวา
ปวดหัว คืออาการเจ็บปวดที่ใครหลายคนมักประสบปัญหา จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัวข้างขวา ปวดหัวข้างซ้าย ปวดขมับ ปวดหัวด้านหน้า หรือปวดหัว คลื่นไส้
แต่ทราบหรือไม่ว่าผู้คนมักมีอาการปวดข้างขวามากกว่าซ้าย หนึ่งในเอกสารของทาง National Library of Medicine ระบุว่าคนไข้ 47.9% มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหัวข้างขวา ในขณะเดียวกัน 28.5% มาด้วยอาการปวดหัวข้างซ้าย และอีก 24.5% ระบุชัดไม่ได้ว่าปวดอย่างไร
บทความนี้จึงจะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการปวดหัวข้างขวาทั้งการสังเกต สาเหตุ วิธีการรักษา เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ปวดหัวข้างขวาเกิดจากอะไร ?
อาการปวดหัวข้างขวาเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งสุขภาพกาย การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการรักษาโรคด้วยยาบางชนิด โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
ปัญหาทางระบบประสาท
เมื่อคุณมีอาการปวดหัวข้างขวา อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านระบบประสาท เช่น
- ไมเกรน มักมีอาการที่ค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว ปวดคอ ตาไวต่อแสง และอื่น ๆ อาการเหล่านี้มักกำเริบเมื่อสภาพแวดล้อมเกิดความผิดปกติ เช่น อากาศร้อนหรือเย็นจัด อยู่ในสถานที่เสียงดัง หรือมีแสงจ้า เป็นต้น
- เครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหัวข้างขวาและซ้ายในลักษณะคล้ายการบีบรัด และอาจปวดลามไปยังคอและไหล่ได้
- เส้นประสาทต้นคอหรือท้ายทอยอักเสบ จากการนั่งผิดท่าสะสมเป็นเวลานานจนเส้นประสาทถูกทำลายและอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยปวดหัวบริเวณด้านหลัง ด้านขวา และลามไปยังกระบอกตา รวมถึงไวต่อแสง
- เนื้องอกในสมอง ส่งผลให้เส้นประสาทถูกกดทับจนมีอาการปวดหัวข้างขวาแบบเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อจาม ไอ หรือเบ่งอุจจาระก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น เป็นสาเหตุที่ค่อนข้างร้ายแรงและควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
- ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ มักพบได้ในเพศชายมากกว่าหญิง โดยทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะและเบ้าตาข้างเดียว ปัจจุบันเรายังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่อาจเกิดจากหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม หรือปัจจัยกระตุ้นรอบตัว
การใช้ยาบางชนิด
รู้หรือไม่ว่า ยาบางชนิด ที่เราใช้รักษาโรคบางอย่าง หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวข้างขวาได้เช่นเดียวกัน โดยยาที่อาจมีผลต่ออาการปวดหัว มีดังต่อไปนี้
- ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เมื่อรับประทานมากกว่า 15 วันภายใน 1 เดือน
- ยารักษาโรคไมเกรน เช่น ยาประเภท Triptans, Ergotamines และ Opioids เมื่อรับประทานมากกว่า 10 วันภายใน 1 เดือน
สาเหตุอื่น ๆ ของอาการปวดหัวข้างขวา
อาการปวดหัวข้างขวายังอาจเกิดจากวิธีการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อร่างกายจนย่ำแย่ลง ทั้งในแง่ของการรับประทานอาหาร การพักผ่อน รวมไปถึงโรคประจำตัวบางโรค ดังนี้
- โรคภูมิแพ้ เกิดจากการอักเสบของโพรงจมูกจนทำให้รู้สึกปวดหัว
- โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง จนเบียดเนื้อสมองหรือเส้นประสาทโดยรอบ
- การนอนหลับไม่เพียงพอ น้อยกว่า 6-8 ชั่วโมง
- การรับประทานคาเฟอีน มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานสมอง
- ใช้สายตามากเกินไป เช่น มองจอคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ โทรทัศน์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ
- อดอาหาร จนร่างกายและสมองได้รับน้ำตาลน้อยเกินไป
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ เช่น ร้อน หนาว มีแสงจ้า มีกลิ่นฉุน หรือเสียงดัง
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ขณะมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือเข้าสู่ช่วงวัยทอง
- ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน ทำให้สมองเกิดความเสียหาย
10 วิธีบรรเทาอาการปวดหัวข้างขวาด้วยตัวเอง
หากคุณมีอาการปวดหัวข้างขวา ข้างซ้าย หรือปวดหัวแบบต่าง ๆ ในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก คุณสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวเบื้องต้นด้วยตัวเองผ่านวิธีการ ทั้งหมด 10 ข้อดังนี้
1. พักสายตาจากการใช้หน้าจออย่างน้อย 30 นาที
2. ประคบอุ่นหรือประคบเย็นบริเวณหลังคอ
3. หากมีการรัดผม ให้คลายหนังยางออกเพื่อลดความตึงของหนังศีรษะ
4. คลายกล้ามเนื้อด้วยการนวดคอ บ่า และไหล่
5. ลดความเครียดด้วยกิจกรรมอื่น ๆ
6. รับประทานยาแก้ปวดเบื้องต้น ในปริมาณที่เหมาะสม
7. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแสงจ้า เสียงดัง และมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป
8. ปรับท่าทางให้เหมาะสม เพื่อลดความตึงของคอและไหล่
9. ใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย
10. ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะการขาดน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง
ปวดหัวแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์
เมื่อการบรรเทาอาการด้วยตนเองไม่สามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ หรือคุณมีอาการปวดหัวข้างขวาอย่างผิดปกติดังอาการต่อไปนี้ การเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคือทางเลือกที่ดีที่สุด
- มีอาการปวดหัวข้างขวาแบบกะทันหันและรุนแรง
- ปวดหัวเรื้อรัง ไม่หาย
- ปวดหัวบริเวณท้ายทอย พร้อมกับอาการแขนขาชาหรือไม่มีแรง
- ปวดหัวและอาเจียนอย่างรุนแรง
- การมองเห็นแย่ลง ปากเบี้ยว ไม่สามารถพูดได้ หรือเดินไม่ตรง
- ปวดหัวเมื่อไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ
- กล้ามเนื้อลำคอด้านหลังแข็งเกร็ง
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการปวดหัวข้างขวาแบบไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แต่กังวลว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของสุขภาพร่างกายที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรงหรือไม่ ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้องเช่นกัน
ป้องกันอาการปวดหัวข้างขวาได้อย่างไร ?
อาการปวดหัวข้างขวาคือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก เพราะความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องการได้ ดังนั้นเราจึงควรป้องกันอาการปวดหัวข้างขวาด้วยวิธีการ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นระบบประสาทและทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวข้างขวา เช่น
- คาเฟอีน เป็นสารที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและกระตุ้นการเป็นไมเกรน
- แอลกอฮอล์ มีสารไทรามีนซึ่งเมื่อดื่มแล้วจะเข้าไปลดระดับสารเซโรโทนินในสมอง
- บุหรี่ มีส่วนผสมของนิโคตินที่ทำให้หลอดเลือดแคบลงจนเลือดสามารถไหลผ่านได้น้อย
- รับประทานอาการที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะผักใบเขียว ข้าวโพด อัลมอนด์ แซลมอน หรือกล้วย เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันและลดอาการปวดหัวข้างขวา
- ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่ง หรือโยคะ เพื่อเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- นอนหลับให้เพียงพอ ลดการมองหน้าจอ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
- รู้ทันร่างกายของเราด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- หากมีโรคประจำตัวก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
สรุป
การปวดหัวข้างขวา เป็นอาการที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากพบเจอ เพราะนอกจากจะส่งผลให้เราทุกข์ทรมานในช่วงเวลานั้นแล้ว อาการนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรงบางอย่างได้อีกด้วย
ดังนั้น เราจึงควรดูแลตนเองเพื่อป้องกันอาการปวดหัวทุกรูปแบบ สำหรับใครที่มีอาการดังกล่าวและไม่สามารถบรรเทาอาการด้วยตนเองได้ และไม่อยากเดินทางไปยังโรงพยาบาล MedCare เรามีบริการปรึกษาแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมบริการจัดหายาจากร้านขายยาใกล้บ้าน ภายใน 1 ชั่วโมง เพียงแอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/