ปวดช่องท้อง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในใครหลายคน แต่อาการดังกล่าวแบ่งเป็นหลากหลายประเภท ทั้งปวดท้องบิด ปวดแสบท้อง ปวดท้องน้อยด้านขวา หรือ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย เราจึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ เพราะอาการแต่ละแบบมีสาเหตุที่แตกต่างกัน และอาจเป็นอาการเตือนถึงโรคร้ายแรงได้
โดยเฉพาะอาการ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย ซึ่งเป็นอาการที่พบเห็นไม่ได้บ่อยมากนัก มีทั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ และอาการปวดที่เกิดขึ้นเป็นประจำเรื้อรังซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคบางอย่าง ดังนั้นเราจึงควรศึกษาทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาอาการเจ็บปวดช่องท้อง
ปวดท้องน้อยด้านซ้ายเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่อันตราย ไปจนถึงสาเหตุของโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หากคุณสงสัยว่า ปวดท้องด้านซ้ายเป็นโรคอะไรได้บ้าง นี่คือ 7 สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายที่เรามักพบ
1. ปวดประจำเดือน
สำหรับสาว ๆ หลายคน เมื่อถึงช่วงมีประจำเดือน อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายคล้ายเป็นตะคริวก็เป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยมักเกิดขึ้นใน 1-3 วันแรก มีอาการปวดร้าวไปจนถึงหลังส่วนล่างและขา หรืออาจมีอาการ ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ ร่วมด้วย หากอาการปวดท้องมาจากสาเหตุดังกล่าวนี้ นับว่าไม่อันตราย เพียงแต่อาจรู้สึกรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันบ้างเล็กน้อย
วิธีรักษา ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยการประคบถุงร้อนบริเวณท้องน้อย นวด พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย และรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน
2. แก๊สในระบบย่อยอาหาร
เมื่อเรารับประทานอาหารบางชนิดมากจนเกินไป อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารได้ดีเท่าที่ควร และเกิดแก๊สสะสมในระบบย่อยอาหาร หากว่าแก๊สเหล่านี้อยู่ในบริเวณลำไส้หรือทวารหนัก ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายได้นั่นเอง โดยคุณสามารถสังเกตได้จากการ เรอ ผายลม ท้องอืด หรือรู้สึกอึดอัดบริเวณท้อง
วิธีรักษา การรักษาตนเองเบื้องต้น สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการกินในแต่ละมื้อ เช่น การรับประทานอาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย เคี้ยวอย่างละเอียดและช้าลง รวมไปถึงการเดินย่อยหลังจากทานอาหาร
3. ถุงผนังลำไส้อักเสบ
ถุงผนังลำไส้อักเสบ คือโรคที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อมนุษย์มีอายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็มีประสิทธิภาพที่ลดลงรวมไปถึงผนังลำไส้ ส่งผลให้มีการสะสมของแก๊ส เกิดความโป่งพอง เพิ่มเชื้อโรคสะสม และทำให้เกิดการอักเสบได้ในที่สุด โดยอาการคือผู้ป่วยมักปวดท้องน้อยด้านซ้ายหรือบริเวณต่ำกว่าสะดืออย่างเรื้อรังและรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูกร่วมด้วย
วิธีรักษา ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนและออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายเรื้อรังอาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะหรือได้รับการผ่าตัด
4. โรคไต
รู้หรือไม่ว่า โรคไต คือหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายที่สามารถพบได้มาก โดยเฉพาะเมื่อไตเกิดการติดเชื้อหรือมีนิ่ว ซึ่งอาการทั้งสองนี้เราสามารถแยกแยะได้จากอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปวดท้องแบบเฉียบพลัน ปวดปัสสาวะตลอดเวลา ปัสสาวะแสบขัด มีไข้สูง หรือคลื่นไส้ อาเจียน และเมื่ออวัยวะสำคัญอย่างไตมีปัญหาก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ได้ เรียกได้ว่า อาการปวดท้องจากโรคไตเป็นสาเหตุที่ค่อนข้างอันตรายมากทีเดียว
วิธีรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคไตที่คนไข้เป็น สำหรับนิ่วในไตสามารถรักษาได้ด้วยการดื่มน้ำปริมาณมาก ใช้เครื่องสลายนิ่ว ส่องกล้อง หรือผ่าตัด ส่วนโรคกรวยไตอักเสบสามารถรักษาผ่านการรับประทานยาปฏิชีวนะ ฉีดยาปฏิชีวนะ หรือผ่าตัด
5. ไส้เลื่อน
โรคไส้เลื่อน เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย เกิดจากเนื้อเยื่อบางส่วน เช่น ผนังช่องท้อง เนื้อไขมัน ลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอลง ทำให้อวัยวะภายในอย่างลำไส้ไหลลงไปรวมกันอยู่ด้านล่างจนส่งผลให้ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยคุณสามารถสังเกตได้จากลักษณะตุงนูนบริเวณท้องหรือขาหนีบ อาการคลื่นไส้อาเจียน ความรู้สึกแน่นท้อง และปวดแสบปวดร้อนท้องน้อย
วิธีรักษา ในเบื้องต้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้ยาแก้ปวดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการ มีการจัดท่าทางของผู้ป่วยเพื่อดันลำไส้ให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติ หรือสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
6. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นโรคที่สามารถพบได้เฉพาะผู้ป่วยเพศหญิงเท่านั้น โดยอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงมีประจำเดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในช่วงระยะเวลาการเป็นประจำเดือน เช่น ปวดท้องน้อยด้านซ้าย เป็นตะคริว มีเลือดออกมาก ปวดหลังส่วนล่าง รวมไปถึงเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และเกิดภาวะมีบุตรยาก
วิธีรักษา ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน แบ่งเป็น 3 วิธีคือ 1. การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ 2. ใช้ฮอร์โมนบำบัด ได้แก่ ยาคุมกำเนิด และห่วงฮอร์โมน 3. ผ่าตัดผ่านการส่องกล้องหรือผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้อง
7. ซีสต์ในรังไข่
การเกิดซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่ เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนมีอาการปวดท้องน้อยได้ โดยซีสต์เหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ซีสต์แบบธรรมดา และซีสต์ที่สามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ โดยผู้ป่วยมักมีอาการต่างกันออกไป เช่น ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือคลำเจอก้อนบริเวณหน้าท้อง เป็นต้น
วิธีรักษา หากอาการของผู้ป่วยไม่รุนแรงมากนัก แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาประเภทยาฮอร์โมน เพื่อลดขนาดของซีสต์ แต่เมื่อผู้ป่วยมีซีสต์ขนาดใหญ่อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อนำก้อนซีสต์ออก
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายที่ควรเข้าพบแพทย์
ถึงแม้ว่าอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายเกิดขึ้นได้และมักหายไปในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ แต่หากว่าคุณมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่ผิดสังเกต ดังเช่นอาการเหล่านี้ คุณควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง
- มีไข้สูง
- ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย หรือท้องผูก
- ขับถ่ายเป็นเลือด
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ร่างกายช็อก เช่น ผิวหนังเย็นชื้น หายใจเร็ว หน้ามืด หรือร่างกายอ่อนแรง
วิธีดูแลตนเองเมื่อปวดท้องน้อยด้านซ้าย
เมื่อคุณมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายแต่ยังไม่รู้สาเหตุสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ง่าย ๆ ก่อนเดินทางไปพบแพทย์ ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานอย่างพอดี และเคี้ยวอย่างละเอียด เพื่อป้องกันอาการปวดที่เพิ่มขึ้น
สรุป
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย คือความเจ็บปวดที่เราไม่ควรมองข้ามเพราะอาการปวดเล็กน้อยเหล่านี้ อาจหมายถึงโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นระบบสืบพันธุ์ ระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร หรืออวัยวะภายในต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติของร่างกาย เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
หากคุณมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย และกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่หรือต้องการบรรเทาอาการปวด แต่ไม่สะดวกเดินทางไปยังสถานพยาบาล การใช้บริการแพทย์และเภสัชกรออนไลน์ MedCare เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับอาการและเลือกซื้อยาออนไลน์จากร้านขายยาใกล้บ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีไม่แพ้กัน เพราะเรามีบริการจัดหาจากร้านขายยาเพื่อส่งถึงมือคุณภายใน 1 ชั่วโมง เพียงแค่แอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/