Latest Articles

“หายใจไม่อิ่ม” สัญญาณเตือนภัยใกล้ตัวที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม

หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจจนเหนื่อยหอบ คืออาการที่สามารถพบได้บ่อยหลังการออกกำลังกายหนัก หรือจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ แต่ถ้าคุณรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก หรืออึดอัดขณะหายใจโดยที่ไม่ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ นั่นอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตรายบางอย่างที่บ่งบอกถึงสุขภาพร่างกายของคุณได้

หายใจไม่อิ่ม (Shortness of breath) เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถสูดอากาศเข้าไปในร่างกายได้อย่างเต็มที่ โดยอาจหายใจเป็นระยะสั้น ๆ ถี่ จนรู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก ไปจนถึงเจ็บหน้าอกขณะหายใจ

ผู้หญิงหายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่มเกิดจากอะไร ?

สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่มแบ่งออกได้หลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรมการออกกำลังกายที่หนักเกินไป โรคภัยไข้เจ็บ หรือสภาพแวดล้อมทั่วไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

จากโรค

โรคยอดฮิตที่ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่อิ่มแบ่งออกได้เป็น 5 โรค ได้แก่

  • ภาวะทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและลมสามารถผ่านได้น้อยกว่าปกติ
  • ภาวะหัวใจ และหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคโลหิตจาง เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงภายในร่างกายมีน้อย และไม่เพียงพอต่อการลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ 
  • โรคปอด เช่น มะเร็ง เนื้องอก ภาวะปอดแตก วัณโรค  และอื่น ๆ ที่รบกวนการทำงานของปอดซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการหายใจ
  • โควิด หรือภาวะลองโควิดหลังติดเชื้อ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อลงปอด และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาวได้

จากสาเหตุอื่น

นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่อิ่มหรือแน่นหน้าอกได้ เช่น

  • การออกกำลังกาย หรือใช้แรงอย่างหนัก อาจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจนมีอาการหายใจไม่อิ่ม
  • ความวิตกกังวล เครียด หรือความตื่นตระหนก ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดพฤติกรรมการหายใจที่รวดเร็วกว่าปกติ
  • โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาจทำให้ปอดได้รับแรงกดและหายใจไม่อิ่มได้
  • ปฏิกิริยาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็น แพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงก็อาจทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้
  • มลพิษทางอากาศ เช่น ควัน สารเคมี หรือฝุ่น โดยเฉพาะ ฝุ่น PM2.5 ขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปยังร่างกายของเราได้
เหนื่อยหอบ หายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่มที่ควรไปพบแพทย์

ถึงแม้ว่าในบางครั้งมนุษย์อาจมีอาการหายใจไม่อิ่ม หรือแน่นหน้าอกหลังทำกิจกรรมบางอย่าง แต่หากว่าคุณหายใจไม่อิ่มพร้อมอาการเหล่านี้ อาจหมายถึงสัญญาณเตือนที่ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

  • หายใจไม่อิ่มขณะนั่งหรือนอน
  • สีของ ริมฝีปาก ผิว หรือเล็บเปลี่ยนไป
  • แน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอกขณะหายใจ
  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มมากขึ้น
  • อวัยวะมีอาการบวม เช่น ข้อเท้า หรือเท้า
  • หายใจมีเสียงผิดปกติ
  • มีไข้สูงกว่าปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน

แนวทางรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม

แนวทางการรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการสอบถามอาการเบื้องต้นและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถวินิจฉัยถึงสาเหตุและความรุนแรงของโรค หลังจากนั้นจึงทำการรักษาอย่างเหมาะสมตามสาเหตุและอาการหายใจไม่อิ่มของผู้ป่วยแต่ละคน โดยมีรายละเอียดดังนี้

วินิจฉัย

การวินิจฉัยอาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะตรวจสอบตั้งแต่อัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของปอด ตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมไปถึงตรวจสอบถึงอาการข้างเคียงอื่น ๆ โดยอาการหายใจไม่อิ่ม มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับ 0-4 ได้แก่

  • Grade 0 มีอาการหายใจไม่อิ่มเมื่อออกกำลังกายหนัก
  • Grade 1 เหนื่อยหอบหลังการเดินบนทางราบหรือเดินขึ้นเขา
  • Grade 2 ประสิทธิภาพการเดินค่อนข้างช้า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีอายุเท่ากัน หรือจำเป็นต้องหยุดพักระหว่างเดิน
  • Grade 3 มีอาการเหนื่อยหอบหลังเดินได้เพียง 2-3 นาที จนต้องหยุดพักหายใจ
  • Grade 4 หายใจไม่อิ่มหรือมีอาการเหนื่อยหอบ ถึงแม้ว่าจะทำกิจกรรมเพียงเล็กน้อย

รักษา

หากผู้ป่วยหายใจไม่อิ่มมีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายหนัก เครียด หรือวิตกกังวล สามารถรักษาอาการได้ด้วยตนเอง เช่น ปรับอุณหภูมิในห้องให้เย็นลง นั่งหรือยกหัวขึ้นเพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก ทำให้ห้องมีอากาศถ่ายเท ลดความเครียด หรือพักผ่อนให้เพียงพอ

แต่สำหรับผู้ป่วยที่เกิดอาการหายใจไม่อิ่มจากโรค หรือมีความรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ให้ออกซิเจน ให้ยาขยายหลอดลม ให้ยาระงับอาการปวดที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือให้ยาคลายกังวล รวมไปถึงรักษาตามกระบวนการของโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยแน่นหน้าอกและหายใจไม่อิ่ม

ใส่หน้ากากอนามัย

วิธีป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม

เราสามารถป้องกันอาการหายใจไม่อิ่มได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคปอด ทางเดินหายใจ และหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุให้หายใจไม่อิ่ม
  • ใส่หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน
  • ลดความเครียดและวิตกกังวล นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากมีโรคประจำตัว ให้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบที่เหมาะสม ไม่หนักจนเกินไป
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง

สรุป

หายใจไม่อิ่ม ถึงจะดูเป็นอาการทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังออกกำลังกายหรือใช้ร่างกายหนัก แต่ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ขณะที่ไม่ได้ทำกิจกรรมหนัก นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยที่คุณไม่ควรมองข้ามและต้องหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ทั้งโรคหัวใจ โรคปอด โรคทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด หรืออาจเกิดจากการแพ้ยาที่รับประทานเข้าไป

เราสามารถป้องกันอาการหายใจไม่อิ่มได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด รวมไปถึงใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยคุณสามารถสั่งซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ง่าย ๆ ผ่าน MedCare เพราะสามารถช่วยจัดหาสินค้าเหล่านี้ได้จากร้านขายยาใกล้บ้านและส่งถึงมือคุณ เพียง 1 ชั่วโมง พร้อมคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ เพียงแอดไลน์ https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/

ปรึกษาเภสัชกรออนไลน์