Latest Articles

ข้อควรรู้ก่อนกิน “ยาคุมฉุกเฉิน” กินบ่อยอาจไม่ดีต่อสุขภาพ

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้หลายคนตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการรับประทาน ยาคุมฉุกเฉิน หรือชื่อเรียกเต็มๆ คือ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หนึ่งในตัวช่วยการคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

แน่นอนว่าหากเอ่ยถึงคำว่า “ฉุกเฉิน” แล้ว การรับประทานยาชนิดนี้บ่อยเกินไปอาจส่งกระทบมากกว่าที่คิด บทความนี้เราจะมาไขข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน ทั้งประเภทของยาคุมฉุกเฉิน วิธีรับประทาน กลไกการทำงาน และผลข้างเคียงที่คุณควรรู้

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน คืออะไร

ยาคุมฉุกเฉิน หรือ Emergency contraceptive pills, morning-after pills คือหนึ่งในยาคุมเม็ดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนในปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ชั่วคราวเมื่อรับประทานหลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยมักใช้เมื่อเกิดความผิดพลาดบางอย่าง เช่น การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ถูกข่มขืน หรือถุงยางอนามัยฉีกขาด เป็นต้น

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด

9 ข้อควรรู้ที่คุณควรศึกษาก่อนใช้ยาคุมฉุกเฉิน

ก่อนตัดสินใจรับประทานยาคุมฉุกเฉิน คุณควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวยาในด้านต่างๆ ทั้งกลไกการทำงาน ประเภท วิธีการรับประทาน รวมไปถึงผลข้างเคียงให้ดีก่อน และนี่คือ 9 ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

1. ประเภทของยาคุมฉุกเฉิน

ยาคุมฉุกเฉินสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ชนิดฮอร์โมนรวม ชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน และชนิดยาต้านโพรเจสติน ซึ่งยาคุมกำเนิดแต่ละประเภทก็มีปริมาณฮอร์โมน วิธีการรับประทาน และผลข้างเคียงของยาที่แตกต่างกันไป

ยาคุมฉุกเฉินที่ได้รับความนิยมมากในประเทศไทยคือ ชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน ยาคุมประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ระดับความรุนแรง ได้แก่ 0.75 มิลลิกรัม จำนวน 2 โดสและ 1.5 มิลลิกรัมต่อเม็ดจำนวน 1 โดส

2. วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน

ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินส่วนใหญ่ที่เห็นตามท้องตลาดในไทยคือ ยาคุมชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน โดยจำหน่ายในลักษณะกล่อง ภายในมียา จำนวน 1 แผงซึ่งประกอบด้วยยาคุม 2 เม็ด และในแต่ละเม็ดก็มีส่วนผสมของฮอร์โมนขนาด 750 กรัม

สำหรับวิธีการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ผู้ใช้งานจำเป็นต้องรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานยาเม็ดที่ 2 เมื่อครบ 12 ชั่วโมงนับจากรับประทานยาเม็ดแรก และไม่ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินเกิน 4 เม็ดต่อเดือน เพื่อประสิทธิภาพของยาคุมและสุขภาพที่แข็งแรงของผู้ใช้งาน

3. กลไกการทำงานของยาคุมฉุกเฉิน

จากการศึกษาพบว่า ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินช่วยยับยั้งการตั้งครรภ์ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนภายในร่างกาย ส่งผลให้ผนังมดลูกไม่เหมาะสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว และอสุจิของผู้ชายสามารถดำรงชีพอยู่ในร่างกายได้มากถึง 5 วัน ทำให้การรับประทานยาคุมฉุกเฉินในช่วงนี้จึงช่วยยับยั้งการปฏิสนธิได้นั่นเอง

4. เราควรกินยาคุมฉุกเฉินเมื่อไร ?

การรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำอาจส่งผลให้ร่างกายของเราได้รับผลกระทบบางอย่าง เราจึงควรใช้งานยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินเพียงแค่บางกรณีเท่านั้น ได้แก่

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม
  • คุมกำเนิดรูปแบบอื่นๆ ผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด หลุด หรือรั่ว
  • ลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
  • เลยกำหนดการฉีดยาคุมกำเนิด
  • คำนวณวันตกไข่ผิดพลาด
กินยาคุมฉุกเฉิน

5. ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน

หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินซึ่งมีส่วนประกอบของฮอร์โมนปริมาณมาก ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลให้ผู้ใช้มีอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้ ดังต่อไปนี้

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีตกขาวสีน้ำตาล
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง คัดตึงเต้านม คล้ายช่วงเวลามีประจำเดือน
  • อาจเกิดความผิดปกติบริเวณรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูก
  • มีความเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก

6. ใครไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉิน ?

ยาคุมฉุกเฉินไม่ได้เหมาะกับผู้หญิงทุกคน ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพราะอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงได้ ได้แก่กลุ่มคนดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ และมีไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งอวัยวะภายในของผู้หญิง และมะเร็งเต้านม
  • ผู้ป่วยโรคตับ เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ
  • มีประวัติเคยหรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยโรคลิ่มเลือดอุดตัน
  • ผู้ป่วยโรคลมชัก และรับประทานยากันชัก
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ หรือมีภาวะหลอดเลือดผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือน

7. ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อได้

การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เพราะยาคุมมีผลเพียงแค่ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ของผู้หญิง และหากคุณต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น โรคหนองใน โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือโรคอื่นๆ ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์

8. ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง

ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เพราะกระบวนการออกฤทธิ์ของยาคุมคือ การยับยั้งการฝังตัวและปฏิสนธิ หากตัวอ่อนได้ฝังตัวลงที่เยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว การรับประทานยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถทำอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและยุติการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

9. ยาคุมฉุกเฉินคุมกำเนิดเพื่อระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะยาวได้ และการออกฤทธิ์ของยาก็จะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา คุณจึงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด หากต้องการป้องกันการคุมกำเนิดในระยะยาว ยังมีวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นๆ ให้เลือก เช่น ยารับประทานยาคุม การฉีดยาคุม การใส่ห่วงยาคุม และการทำหมัน

วิธีการคุมกำเนิด

สรุป

ยาคุมฉุกเฉินคือยาที่ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่ควรใช้เมื่อยามจำเป็นหรือในกรณีฉุกเฉิน เพราะส่วนผสมของยาที่มีฮอร์โมนสูงอาจทำให้ร่างกายเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้ และเราควรรับประทานยาคุมกำเนิดในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของการป้องกัน

ก่อนรับประทานยาแต่ละชนิด การศึกษาถึงตัวยา การออกฤทธิ์ และผลข้างเคียงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยตัดสินใจเลือกรับประทานยา และหากคุณต้องการข้อมูลยาจากผู้เชี่ยวชาญหรือซื้อยา แต่ไม่มีเวลาเดินทางไปยังร้านขายยาด้วยตัวเอง MedCare คือตัวช่วยที่จะทำให้การซื้อยาของคุณง่ายดายขึ้น เพราะเรามีทั้งเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญและให้บริการจัดหายาจากร้านขายยาใกล้บ้านเพื่อส่งถึงมือคุณภายใน 1 ชั่วโมง เพียงแค่แอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/

ปรึกษาเภสัชกร
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง