Latest Articles

ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม มีกี่แบบ ควรเลือกอย่างไร

ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม

ไอ เจ็บคอ เป็นหนึ่งในอาการที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยไม่มากก็น้อย และ ‘ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม’ คือกลุ่มยาที่ฟังเผิน ๆ อาจมีคุณสมบัติและสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการไอได้เหมือนกัน แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วยาทั้งสามตัว เป็นตัวยาคนละกลุ่มกัน และเราควรเลือกยามาช่วยรักษาตามการวินิจฉัยสาเหตุ อาการ ความรุนแรง และร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพราะมิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดผลกระทบอื่นตามมาได้ เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อน แพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงที่รุนแรง

อาการไอ

อาการไอ มีแบบไหนบ้าง ?

อาการไอ เจ็บคอ แบ่งเป็น 3 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีสาเหตุและลักษณะอาการที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • ไอแห้ง มีสาเหตุจากอาการระคายเคืองในลำคอ หรือทางเดินหายใจส่วนล่าง ไม่มีเสมหะผสมอยู่ในคอ โดยอาจเกิดจากภาวะกรดไหลย้อน หรือโรคหลอดลมอักเสบ
  • ไอแบบมีเสมหะ มีสาเหตุจากภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบ เป็นต้น จนทำให้ร่างกายมีการขับเมือกหรือสารคัดหลั่งภายในโพรงจมูกที่เราเรียกว่า น้ำมูก และไหลลงไปยังบริเวณลำคอ
  • ไอเสียงก้อง มักพบในผู้ป่วยวัยเด็ก โดยอาจเกิดจากการบวมของระบบทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณกล่องเสียง หรือหลอดลม ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยไอเสียงก้อง หายใจลำบาก และหายใจมีเสียง

ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม แตกต่างกันยังไง ?

ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ และขยายหลอดลม เป็นกลุ่มยาที่ช่วยระงับอาการไอได้ดี แต่ในทางการแพทย์แล้ว ยา 3 ชนิดนี้มีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป

ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอ (Antitussive) คือกลุ่มยาที่ช่วยระงับอาการไอแบบไม่มีเสมหะ หรือที่เราเรียกกันว่าไอแห้ง แต่ไม่สามารถระงับอาการไอที่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น การสูบบุหรี่ โรคหืด และถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ออกฤทธิ์โดยการกดการควบคุมการไอที่สมอง ซึ่งผลข้างเคียงของยาชนิดนี้คือ อาจทำให้เสมหะมีความข้นเหนียวมากขึ้น รวมถึงมีอาการง่วงซึม

กลุ่มยาแก้ไอที่ใช้ตัวอย่างเช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) โคเดอีน (Codeine) และไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) โดยมีให้เลือกทั้งแบบยาเม็ด ยาน้ำ และยาแขวนตะกอน

ข้อควรระวัง

  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ห้ามใช้ยาชนิดนี้
  • ไม่ควรใช้ยาแก้ไอขณะขับรถ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง
  • ควรปรึกษาแพทย์หากกำลังใช้ยาที่ออกฤทธิ์ด้านระบบประสาท เช่น ยานอนหลับ หรือยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วงซึม
  • การใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องอาจทำให้เสพติด
ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม เด็ก

ยาละลายเสมหะ

ยาละลายเสมหะ (Mucolytic) กลุ่มยารักษาอาการไอแบบมีเสมหะ ซึ่งมีสาเหตุจากโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น เช่น ไข้หวัด หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง วัณโรค และหลอดลมโป่งพอง ยากลุ่มดังกล่าวออกฤทธิ์เพื่อลดความข้นเหนียวของเสมหะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถไอขับเสมหะได้ง่ายดายขึ้น แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ ง่วงซึม และ ท้องเสีย

ยาละลายเสมหะมีให้เลือกหลากรูปแบบ ทั้งยาแก้ไอละลายเสมหะแบบเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาพ่น และยาฉีด ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine) แอมบรอกซอล (Ambroxol) คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) และอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine)

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรใช้ยาละลายเสมหะในผู้ป่วยที่มีแผลบริเวณกระเพาะอาหาร เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
  • ผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • หากผู้ป่วยที่ใช้ยามีอุจจาระสีดำ ให้หยุดการใช้งานยาทันทีและเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม ผู้ใหญ่

ยาขยายหลอดลม

ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator) มีสรรพคุณช่วยให้ทางเดินหายใจขยายออกและหายใจสะดวก โดยออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อภายในปอด ช่วยรักษาอาการไอซึ่งเกิดจากโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ผลข้างเคียงของการใช้ยา เช่น อาการสั่น ตะคริว ปากแห้ง และปวดหัว เป็นต้น

ยาขยายหลอดลมสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ ยากลุ่มเบต้าทูอะโกนิส (Beta-2 Agonists) ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) และยากลุ่มยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) โดยมีระยะเวลาการออกฤทธิ์และรูปแบบยาที่แตกต่างกันไป

ข้อควรระวัง

  • อาจมียาบางชนิดที่ทำปฏิกิริยากับยาขยายหลอดลมเมื่อใช้งานร่วมกัน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันสูง ต้อหิน โรคตับ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • การใช้ยาขยายหลอดเลือดบางชนิดอาจส่งผลต่อผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะ
  • การสูบบุหรี่อาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดลง
  • ยาขยายหลอดลมบางชนิดไม่อนุญาตให้ใช้กับเด็ก

สำหรับผู้ป่วยเด็ก ผู้ปกครองจำเป็นต้องเลือกยาที่ผลิตขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพราะตัวยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม ของผู้ใหญ่ อาจมีส่วนผสมบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อเด็ก ดังนั้นยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเด็ก คือยาที่มีส่วนผสมของ คาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine) และควรเป็นยารูปแบบน้ำเพื่อให้สามารถรับประทานได้ง่ายมากที่สุด

ทั้งนี้ ในการใช้ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม ทุกชนิด ผู้ป่วยควรแจ้งประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว ยาที่กำลังรับประทาน รวมไปถึงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งก่อนรับยาเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญจัดหายาที่เหมาะสม

วิธีบรรเทาอาการคันคอ ไอ ด้วยตัวเอง

หากคุณมีอาการไอ เจ็บคอ และต้องการบรรเทาอาการดังกล่าวในเบื้องต้น วิธีเหล่านี้อาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น

  • จิบน้ำอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาการระคายเคืองคอและละลายเสมหะ
  • หลีกเลี่ยงการพบสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควัน หรืออากาศเย็น
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูและซ่อมแซมได้ดียิ่งขึ้น
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือผสมน้ำอุ่น เพื่อต้านเชื้อโรค รักษาความชุ่มชื้น และลดการระคายเคือง
  • รับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ดื่มน้ำผึ้งมะนาวผสมน้ำอุ่นหรือชาร้อน ซึ่งมีสรรพคุณในการต้านเชื้อไวรัสและอนุมูลอิสระ
  • รับประทานยาอมแก้ไอ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการอักเสบของลำคอ

สรุป

หากว่าคุณบรรเทาอาการด้วยวิธีต่าง ๆ และรับประทานยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลมด้วยตนเอง แต่อาการไอและเจ็บคอไม่ดีขึ้น การปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญนับว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาการและการจัดยาแล้ว บุคลากรเหล่านี้ยังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือร้านขายยาด้วยตนเอง MedCare สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องด้วยเภสัชกรออนไลน์ พร้อมบริการจัดหายาจากร้านขายยาใกล้บ้าน เพื่อส่งถึงมือคุณภายใน 1 ชั่วโมงเพียงแค่แอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/

ปรึกษาเภสัชกรออนไลน์