Latest Articles

พาราเซตามอลคือยาอะไรกันแน่ สามารถแก้ปวดได้ทุกแบบจริงหรือ

พาราเซตามอลคือยาอะไรกันแน่ สามารถแก้ปวดได้ทุกแบบจริงหรือ

พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ อะเซตามีโนเฟน เป็นยารักษาอาการปวดและลดไข้ที่หลายคนจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของยาสามัญประจำบ้าน เพราะนอกจากจะมีราคาไม่แพงแล้ว ยังสามารถหาซื้อได้ง่าย ทั้งในร้านสะดวกซื้อทั่วไป ห้างสรรพสินค้า หรือร้านขายยา อย่างไรก็ตาม การศึกษาถึงสรรพคุณ วิธีการรับประทาน และข้อควรระวังในการใช้งานยาพาราเซตามอล ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อป้องกันผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจตามมาหลังการรับประทานยา

ปวดหัว

สรรพคุณของยาพาราเซตามอล

ข้อดีของการใช้ยาพาราเซตามอลคือ มีความปลอดภัยสูงต่อร่างกายมนุษย์ ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ไม่ทำให้เลือดออกง่าย จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาแอสไพริน เป็นไข้เลือดออก และสุ่มเสี่ยงภาวะเลือดออกง่าย โดยสรรพคุณของยาพาราเซตามอลมี 2 ข้อคือ 

  • ลดไข้ แก้ตัวร้อน
  • ลดอาการปวด เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก และปวดประจำเดือน เป็นต้น

อาการปวดที่พาราเซตามอลไม่สามารถรักษาได้

ถึงแม้ว่ายาพาราเซตามอลจะมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งอาการปวดผ่านการเปลี่ยนแปลงการรับความรู้สึกเจ็บปวด แต่สำหรับอาการปวดบางชนิด การรับประทานยาพาราเซตามอลก็ไม่อาจช่วยบรรเทาได้ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้

1. อาการปวดท้องจากท้องเสีย โรคกระเพาะ หรือโรคกรดไหลย้อน เพราะอาการเหล่านี้มีที่มาจากระบบประสาทและลำไส้ หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ยาลดกรด ยาแก้ปวดท้อง และยาแก้ท้องเสียจึงเป็นยาที่ช่วยระงับอาการมากกว่านั่นเอง

2. อาการปวดที่รุนแรง เช่น แผลผ่าตัด นิ่วในไต โรคมะเร็งบางชนิด หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจใช้ยาพาราเซตามอลไม่ได้ผล ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนหรือทรามาดอล เพื่อระงับอาการปวดขั้นรุนแรง

3. อาการปวดที่แปลกไป บ่งบอกถึงความผิดปกติของเส้นประสาทบางส่วน เช่น ปวดแสบปวดร้อน ปวดร่วมกับเสียวแปลบ ปวดเหมือนมีเข็มทิ่มแทง ปวดคล้ายไฟช็อต ปวดร้าว หรือปวดและชาไปพร้อม ๆ กัน คุณจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง

4. อาการปวดหัวเรื้อรัง เกิดจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งการใช้ยาแก้ปวดมากกว่า 15 วันต่อเดือน จำนวน 2-3 เดือนติดต่อกัน มีอาการไมเกรนมากกว่า 3-4 ครั้งต่อเดือน และอาการปวดจากความเครียดมากกว่า 15 วันต่อเดือน ซึ่งการใช้ยาพาราเซตามอลอาจทำให้อาการปวดเหล่านี้แย่ลงได้

กินยา พาราเซตามอล

ยาพาราเซตามอล กินกี่เม็ด

การรับประทานยาพาราเซตามอลในปริมาณมากหรือน้อยจนเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าการบรรเทาอาการปวด ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนี้

  • การรับประทานยาที่ถูกต้องคือ 10-15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • ควรรับประทานยาพาราเซตามอลห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  • ในแต่ละวันไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลมากกว่า 4,000 มิลลิกรัม เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้
  • หากการรับประทานยาพาราเซตามอลไม่ทำให้อาการป่วยดีขึ้นภายใน 3-5 วัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง

โดยปริมาณของการรับประทานยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับขนาดยาและน้ำหนักของผู้ใช้งาน ดังนี้

ยาพาราเซตามอลชนิดเม็ด ขนาด 325 mg กินกี่เม็ด

  • น้ำหนัก 22-33 กิโลกรัม ครั้งละ 1 เม็ด
  • น้ำหนัก 34-44 กิโลกรัม ครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง
  • น้ำหนัก 45-67 กิโลกรัม ครั้งละ 2 เม็ด

ยาพาราเซตามอลชนิดเม็ด ขนาด 500 mg กินกี่เม็ด

  • น้ำหนัก 33-50 กิโลกรัม ครั้งละ 1 เม็ด
  • น้ำหนัก 51-67 กิโลกรัม ครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง
  • น้ำหนัก 67 กิโลกรัมขึ้นไป ครั้งละ 2 เม็ด

ยาพาราเซตามอลชนิดเม็ด ขนาด 650 mg กินกี่เม็ด

  • อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือ มีน้ำหนักน้อยกว่า 44 กิโลกรัม ไม่ควรใช้ยา อาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับได้
  • น้ำหนัก 44 กิโลกรัมขึ้นไป ครั้งละ 2 เม็ด ห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง

เช่นเดียวกับการใช้ยาประเภททุกรูปแบบ ยาพาราเซตามอลมีข้อควรระวังและข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม ได้แก่

  • ห้ามใช้งานยาพาราเซตามอลในผู้มีประวัติการแพ้
  • ควรใช้งานยาในปริมาณตามแพทย์สั่ง และไม่ใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำบนฉลาก
  • ไม่ควรใช้ยาร่วมกับยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล เพราะอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด
  • สำหรับผู้ป่วยโรคตับและโรคพิษสุราเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยา
  • ไม่ควรกินยาพาราเซตามอลติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่าระยะเวลาบนฉลากกำหนด เพราะอาจส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมรับประทานยาพาราเซตามอล เพราะอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบและตับวายได้
  • หากมีไข้มากกว่า 39.5 องศาควรเดินทางไปพบแพทย์
  • หากมีอาการของการแพ้ยาพาราเซตามอล ให้หยุดใช้งานยาและเดินทางไปพบแพทย์ทันที
แพ้ยา ผื่นคัน

ผลข้างเคียงของยาพาราเซตามอล

การใช้ยาพาราเซตามอลเกินปริมาณที่กำหนด หรือผู้ที่ แพ้ยา อาจเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนี้

  • ขับถ่ายเป็นเลือด หรือมีสีดำ
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ
  • ปวดหลังล่างอย่างรุนแรง
  • มีผื่นคัน หรือจุดสีแดงขนาดเล็กบนผิวหนัง
  • เกิดแผลหรือจุดขนาดเล็กขึ้นในช่องปาก
  • เหนื่อยง่าย เลือดออกผิดปกติ
  • ตัวเหลือง หรือ ตาเหลือง 
  • เกิดภาวะตับอักเสบและตับวาย
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีเหงื่อออก
  • ซึม ความดันลดลง

เพราะฉะนั้น หากคุณรับประทานยาพาราเซตามอลและมีอาการข้างต้น คุณจำเป็นต้องหยุดการใช้งานยาดังกล่าวทันที และรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

ไข้ทับระดู กินยาพาราได้ไหม

ไข้ทับระดู คืออาการป่วยที่เกิดขึ้นขณะผู้หญิงมีประจำเดือน โดยอาการของไข้ทับระดูมีตั้งแต่ ปวดท้อง ปวดหัว มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ไปจนถึงอาการตกขาวเป็นหนอง ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ซึ่งผู้ป่วยควรรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันอาการช็อกและเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้

การดูแลตนเองเบื้องต้นของผู้ป่วยไข้ทับระดู หรือ ปวดหัวจากประจำเดือน สามารถทำได้ด้วยรับประทานยาตามอาการ ยาพาราเซตามอล เป็นหนึ่งในตัวยาที่ผู้ป่วยมักใช้บรรเทาอาการปวดท้องและไข้ขึ้นสูง แต่หากรับประทานยาแล้วยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรค ‘ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ’

สรุป

ยาพาราเซตามอล คือยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ผ่านการออกฤทธิ์ระงับประสาท เป็นยาที่ได้รับความนิยมมาก ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของยาสามัญประจำบ้าน เพราะสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาซื้อง่าย และมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป การใช้งานยาพาราเซตามอลจำเป็นต้องมีการควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ไม่สามารถบรรเทาอาการปวด ซ้ำยังส่งผลเสียต่อร่างกายได้

หากว่าคุณต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งานยาพาราเซตามอล หรือยาประเภทอื่น ๆ พร้อมการค้นหายาจากร้านขายยาใกล้บ้าน เพื่อรับประทานภายใน 1 ชั่วโมง MedCare คือบริการเภสัชกรออนไลน์และจัดหายาที่ใส่ใจทุกบริการ เพียงแค่แอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/

ปรึกษาเภสัชกรออนไลน์